วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประวัติและข้อมูลทั่วไปของอำเภอโพนนาแก้ว

ประวัติและข้อมูลทั่วไปของอำเภอโพนนาแก้ว

การตั้งชื่อ “อำเภอโพนนาแก้ว” เนื่องจากเป็นการรวมชื่อตำบลในเขตท้องที่ คือ

โพน คือ นามของตำบลบ้านโพน
นา คือ นามของตำบลนาตงวัฒนา
แก้ว คือ นามของตำบลนาแก้ว

รวมชื่อว่า “ อำเภอโพนนาแก้ว “ หมายความว่า “ ที่ราบสูงเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์"
อำเภอโพนนาแก้ว เป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 18 อำเภอของจังหวัดสกลนคร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดสกลนคร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 33 กิโลเมตร มีพื้นที่ 365 ตารางกิโลเมตร หรือ 228,125 ไร่
เดิมเป็นพื้นที่ขึ้นกับอำเภอเมืองสกลนคร ปี พ.ศ. 2534 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ มีเขตการปกครอง 5 ตำบล ได้มีพระราชกฤษฏีกายกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2540
มีเขตการปกครอง 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านโพน ตำบลนาแก้ว ตำบลนาตงวัฒนา ตำบลบ้านแป้น ตำบลเชียงสือ เหตุผลที่มีการตั้งอำเภอโพนนาแก้ว มีอยู่ 2 ประการ 1. เป็นชุมชนหนาแน่น คืออำเภอเมืองสกลนคร มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีประชากรอยู่หนาแน่นทำให้การบริการประชาชนเกิดความล่าช้า 2. เป็นท้องที่กันดาร ห่างไกลการคมนาคม ไม่สะดวก เนื่องจากพื้นที่อำเภอเมืองสกลนคร มีหนองหารกั้นระหว่างพื้นที่ด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ทำให้ราษฎรที่อยู่ฝั่งทิศตะวันออก
ได้แก่ ตำบลท่าแร่ ตำบลบ้านโพน ตำบลนาตงวัฒนา ตำบลบ้านแป้น และตำบลนาแก้วได้รับความลำบากในการติดต่อราชการที่อำเภอเมือง ประกอบกับปัญหาเรื่องความสงบเรียบร้อย ราษฎรและสภาตำบลในพื้นที่ดังกล่าวจึงต้องการให้แยกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ จังหวัดสกลนคร จึงให้สภาตำบล ทั้ง 5 พิจารณาหาที่ตั้งศูนย์ราชการกิ่งอำเภอ ตำบลท่าแร่ ต้องการให้ศูนย์ราชการตั้งอยู่ท้องที่ตำบลท่าแร่โดยอ้างว่าเป็นท้องที่ที่เจริญและมีชุมชนหนาแน่นที่สุด ตำบลบ้านโพนไม่ยินยอมโดยให้เหตุผลว่าถ้าศูนย์ราชการตั้งอยู่ที่ท่าแร่ ราษฎรตำบลบ้านโพน ตำบลนาตงวัฒนา ก็ไม่ได้รับความสะดวกและเป็นท้องที่ห่างไกลเช่นเดิม ราษฎรและสภาตำบลนาแก้ว มีแนวโน้วเห็นด้วยกับตำบลท่าแร่ เพราะถ้าศูนย์ราชการอยู่ตำบลบ้านโพน ราฎรตำบลนาแก้วก็ไม่ได้มีแนวโน้มเห็นด้วยกับตำบลท่าแร่ เพราะถ้าศูนย์ราชการอยู่ตำบลบ้านโพน ราษฎรตำบลนาแก้วก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร

ดังนั้น ตำบลบ้านโพนจึงได้เจรจาต่อรองกับตำบลนาแก้ว โดยให้ศูนย์ราชการตั้งอยู่ระหว่างตำบลบ้านโพนและตำบลนาแก้ว และให้ใช้ชื่อกิ่งอำเภอที่ตั้งขึ้นใหม่ว่า "โพนนาแก้ว" ซึ่งเป็นชื่อของตำบลบ้านโพนและตำบลนาแก้ว ตำบลนาแก้วตกลงรับข้อเสนอของตำบลบ้านโพน ทำให้ตำบลท่าแร่ถอนตัว ไม่ร่วมอยู่ในเขตพื้นที่การปกครองของกิ่งอำเภอใหม่ ดังนั้น ท้องที่ตั้งกิ่งอำเภอใหม่จึงประกอบด้วย ตำบลนาแก้ว ตำบลบ้านโพน ตำบลบ้านแป้น ตำบลนาตงวัฒนา ตำบลเชียงสือโดยมีศูนย์ราชการตั้งอยู่ระหว่าง ตำบลนาแก้ว ตำตำบลบ้านโพน และตำบลนาตงวัฒนา
ชุมชนอำเภอโพนนาแก้ว ประกอบด้วย ชนเผ่า 3 เผ่า คือ เผ่าไทย้อ ภุไท และกะเลิง(ข่าเลิง) ไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าชุมชนอำเภอโพนนาแก้ว อพยพมาจากไหน เมื่อใด มีแต่คนเฒ่า คนแก่ เล่าเป็นตำนานสืบๆ ต่อกันมา ส่วนอายุก็อาศัยคำนวณจากรุ่นอายุของคนที่เกิดในถิ่นนี้ และหลักฐานการสร้างวัดซึ่งจะมีมาควบคู่กับชุมชนเสมอ จากปากคำคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าสืบมาไม่ว่าจะเป็นเผ่าไทญ้อ ภูไทและกะเลิง ล้วนอพยพมาจากเมืองมหาไซ กองแก้ว ประเทศลาว (อยู่ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนม) เข้ามาประมาณ 150-200 ปี มาแล้ว เหตุผลที่อพยพจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงน่าจะเป็นการลี้ภัยสงครามมากกว่าอย่างอื่น
นายช่วง เครือตาแก้ว อายุ 76 ปี อดีต กำนันตำบลบ้านโพน อำเอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร เล่าว่า "ตำบลบ้านโพนเป็นเผ่าไทญ้อ พ่อแม่เล่าให้ฟังว่า อพยพมาจากเมืองมหาไซ กองแก้ว มาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกอยู่ที่บ้านอ้อมแก้ว (หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านโพน) เรียกว่าบ้านอ้อมแก้วแสนตอ สาเหตุที่ชุมชนแห่งนี้ได้ชื่อว่าบ้านอ้อมแก้วแสนตอ ก็เพราะมีดวงแก้วขนาดใหญ่เสด็จมาจากฟากฟ้าตกลงมายังบริเวณนี้ ผุ้คนจำนวนมากพากันไปถางป่าเพื่อหาดวงแก้ว จนป่าเหลือแต่ตอ ผู้คนจึงได้ขนาดนามหมู่บ้านว่า " บ้านอ้อมแก้วแสนตอ" ปัจจุบันคำว่าแสนตอได้หายไปแล้ว เหลือแต่อ้อมแก้ว มาอยู่ได้ประมาณ 200 ปี แล้ว
เผ่าไทญ้อบ้านอ้อมแก้ว เป็นชุมชนดั้งเดิมแม้แต่ตำบลบ้านแป้นก็ขยายออกจากชุมชนนาแก้ว "จำบ๋ได้ว่ามาอยู่แต่ปีได๋ เกิดมากะอยู่นี้ดลด" ผู้เฒ่า ผู้แก่ บ้านนาแก้วเล่า (สิมวัดยอดลำธาร บ้านนาแก้ว สร้างเมื่อ ร.ศ. 129) นายพรมมา พลอินสา อายุ 77 ปี อยู่บ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 10 ตำบลนาแก้ว เล่าว่า "ผมเกิดอยู่บ้านกลาง ความจริง บ้านกลางเป็นเผ่า กะเลิง แต่ดั้งเดิม ปัจจุบันมนกลมกลืนกับไทญ้อหมดแล้วก็มาจากโน้น มาจากเมืองมหาไซ กองแก้ว มาอยู่ที่บริเวณหนองน้ำคันหรือกลางฮ้างอยู่ระหว่างบ้านกลางกับบ้านนาแก้ว เมื่อเกิดโรคระบาดจึงได้อพยพมาอยู่ที่บ้านกลาง "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์ไว้เมื่อ ครั้งเสด็จตรวจราชการแขวงเมืองสกลนครแขวงเมืองนครพนม ว่า "พวกกะเลิง เล่าว่าอพยมมาจากเมือกะตาก แต่ไม่มีใครรู้ว่าเมืองกะตากอยุ่ที่ใดแต่ถ้าพูดถึงเมืองมหาไซ กองแก้ว พวกกะเลิงจะรู้ว่าอยู่ประเทศลาว ผู้ชายกะเลิงจะชอบไว้ผมยาวม้วนเป็นมวยผม และสักรูปนกที่แก้ม
นายคำสอน แสงวงศ์ อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที 1 หมู่ที่ 6 ตำบลเชียงสือ อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร และนายวิไล บุตรโคษา กำนันตำบลเชียงสือ เล่าว่า "ราษฎรตำบลเชียงสือเป็นภูไท ไม่ใช่ผู้ไทย อพยพมาจากเมืองมหาไซ กองแก้ว อพยพครั้งแรกมาอยู่ที่ดอนบ้านฮ้าง (ดอนบ้านร้าง) ต่อมาเกิดโรคระบาด ชาวบ้านก็เลยอพยพไปหาที่อยู่ใหม่บริเวณริมฝั่งน้ำก่ำ ปัจจุบันเรียกว่า ท่าใหญ่ แต่บริเวณนี้เมื่อถึงฤดูฝนน้ำจะท่วมก็เลยพากันอพยพไปอยู่ที่ดอนแต้ (ปัจจุบัน คือ หมู่ที่ 1) มีการสร้างวัดขึ้นมาที่ดอนแต้ปัจจุบันวัดบ้านดอนแต้ไม่มีแล้ว เพราะได้มีการย้ายมาสร้างวัดโพธิ์ชัย (ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ 5 ) ขึ้นมาแทน" พระครูโพธิ์ชัยธรรม เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัยองค์ปัจจุบันเล่าว่า " วัดโพธิ์ชัย สร้างเมื่อ พ.ศ.2420
เดิมบ้านนี้เชื่อว่าบ้านเชียงสือ เมื่อตั้งเป็นหมู่บ้านตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ก็ชื่อบ้านเชียงสือ ภาษาภุไทออกเสียง "เซงเสอ"คนเฒ่า คนแก่ เล่าว่าว่าบริเวณ บ้านดอนฮ้างแต่ก่อนมีเสืออาศัอยู่ชุกชุม ผุ้นำชุมชนในขณะนั้นเคยบวชเป็นเณรสึกออกมาชาวบ้านเรียกว่า "เซ้ง" ภาษาอีสานออกเป็น"เซีง" ชุมชนแห่งนี้เลยมีชื่อว่า "เชียงเสือ" ต่อมาเลยเพี้ยเป็นเชียงสือ" นายวิไล บุตรโคษา กำนันตำบลเชียงสือเล่า


Credit:www.konbandon.com/

วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ตำนานเมืองหนองหาร (ผาแดง-นางไอ่)

ครั้งหนึ่งยังมีเมืองอยู่เมืองหนึ่งชื่อ นครเอกชะทีตา มีพระยาขอมเป็นกษัตริย์ ปกครองเมืองด้วยความร่มเย็น พระยาขอมมีพระธิดาสาวสวยนามว่า "นางไอ่คำ" ซึ่งเป็นที่รักและหวงแหนมาก จึงสร้างปราสาท 7 ชั้น ให้อยู่พร้อมเหล่าสนม นางกำนัล คอยดูแลอย่างดี

ขณะเดียวกันยังมีเมืองอีกเมืองหนึ่งชื่อ เมืองผาโพง มีเจ้าชายนามว่า ท้าวผาแดง เป็นกษัตริย์ ปกครองอยู่ ได้ยิน กิตติศัพท์ความงามของธิดา ไอ่คำมาก่อนแล้ว ใคร่อยากจะเห็นหน้า จึงปลอมตัวเป็นพ่อค้าพเนจรถึงนครเอกชะทีตา และติดสินบนนางสนมกำนัล ให้นำของขวัญลอบ เข้าไป ให้นางไอ่คำ ด้วยผลกรรมที่ผูกพันมาแต่ชาติปางก่อน นางไอ่คำและท้าวผาแดงจึงได้มีใจ ปฏิพัทธ์ต่อกัน จนในที่สุดทั้งสองก็อภิรมย์สมรักกัน

ก่อนท้าวผาแดงจะจากไป เพื่อจัดขบวนขันหมากมาสู่ขอนางไอ่คำ ทั้งสองได้คร่ำครวญต่อกัน ด้วยความอาลัยยิ่ง วันเวลาผ่านไปถึงเดือน 6 เป็นประเพณีแต่โบราณของเมืองเอกชะทีตา จะต้องมีการทำบุญบั้งไฟบูชาพญาแถน พระยาขอมจึงได้ประกาศบอกไปตามหัวเมืองต่างๆ ว่าบุญบั้งไฟปีนี้จะเป็นการหาผู้ที่จะมาเป็นลูกเขยอีกด้วย ขอให้เจ้าชายหัวเมืองต่างๆ จัดทำบั้งไฟ มาจุดแข่งขันกัน ผู้ใดชนะก็จะได้อภิเษก กับพระธิดาไอ่คำด้วย

ข่าวนี้ได้ร่ำลือไปทั่วสารทิศ ทุกเมืองในขอบเขตแว่นแคว้นต่างๆ ก็ส่งบั้งไฟเข้ามาแข่งขัน เช่น เมืองฟ้าแดดสูงยาง เมืองเชียงเหียน เชียงทอง แม้กระทั่งพญานาคใต้เมืองบาดาล ก็ได้ยินร่ำลือจนสิ้น จนท้าวพังคีเจ้าชายพญานาคเมือง บาดาลก็อดใจไม่ไหว ปลอมตัวเป็น กระรอกเผือก มาดูโฉมงามนางไอ่คำ ด้วยในวันงานบุญบั้งไฟ เมื่อถึงวัน แข่งขัน จุดบั้งไฟ ปรากฏว่า บั้งไฟท้าวผาแดงจุดไม่ขึ้นพ่นควันดำอยู่ 3 วัน 3 คืน จึงระเบิดออกเป็นเสี่ยงๆ ทำให้ความหวังท้าวผาแดงหมดสิ้นลง

ขณะเดียวกัน ท้าวพังคีพญานาคที่ปลอมเป็นกระรอกเผือก มีกระดิ่งผูกคอน่ารักมาไต่เต้น อยู่บนยอดไม้ข้าง ปราสาท นางไอ่คำ ก็ปรากฏร่าง ให้นางไอ่คำเห็น นางจึงคิดอยากได้มาเลี้ยง แต่แล้วก็จับไม่ได้ จึงบอกให้นายพรานยิงเอาตัวตายมา ในที่สุดกระรอกเผือกพังคี ก็ถูกยิง ด้วยลูกดอก จนตาย ก่อนตายท้าวพังคีได้อธิษฐานไว้ว่า "ขอให้เนื้อของข้าได้ แปดพันเกวียน คนทั้งเมืองอย่าได้กินหมดเกลี้ยง"

จากนั้นร่างของกระรอกเผือกก็ใหญ่ขึ้น จนผู้คนแตกตื่นมาดูกันและจัดการแล่เนื้อนั้นแบ่งกัน ไปกินทั่วเมือง ด้วยว่าเป็นอาหารทิพย์ ยกเว้นแต่พวก แม่ม่ายที่ชาวเมืองรังเกียจ ไม่แบ่งเนื้อ กระรอกให้ พญานาคแห่งเมืองบาดาล ทราบข่าว ท้าวพังคีถูกมนุษย์ฆ่าตายแล่เนื้อไปกิน กัน ทั้งเมือง จึงโกรธแค้นยิ่งนัก ดึกสงัดของคืนนั้นเอง ขณะที่ชาวเมือง เอกชะทีตากำลังหลับไหล

เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ท้องฟ้าอื้ออึงไปด้วย พายุฝน ฟ้ากระหน่ำลงมาอย่างหนักอยู่ มิได้ขาด แผ่นดินเริ่มถล่มตัวยุบตัวลงไปทีละน้อย ท่ามกลางเสียงหวีดร้องของผู้คนที่วิ่งหนีตาย เหล่าพญานาคผุด ขึ้นมา นับหมื่นนับแสนตัว ถล่มเมืองชะทีตาจมลบงใต้บาดาลทันที คงเหลือไว้เป็นดอน 3-4 แห่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกแม่ม่าย ที่ไม่ได้กินเนื้อ กระรอกเผือกจึงรอดตาย

ฝ่ายท้าวผาแดงได้โอกาสรีบควบม้าหนีออกจากเมือง โดยไม่ลืมแวะรับพระธิดาไอ่คำไปด้วย แต่แม้จะเร่งฝีเท้าม้าเท่าใดก็หนีไม่พ้นทัพพญานาคที่ ทำให้แผ่นดินถล่มตามมาติดๆ ในที่สุดก็กลืนท้าวผาแดงและพระธิดาไอ่คำ พร้อมม้าแสนรู้ชื่อ "บักสาม" จมหายไปใต้พื้นดิน

รุ่งเช้าภาพของเมืองเอกชะทีตาที่เคยรุ่งเรืองโอฬาร ก็อันตธานหายไปสิ้น คงเห็นแต่พื้นน้ำ กว้างยาว สุดตา ทุกชีวิตในเมืองเอกชะทีตาจมสู่ใต้บาดาล จนหมดสิ้นเหลือไว้แต่แม่ม่ายบนเกาะร้าง 3-4 แห่ง ในผืนน้ำอันกว้างนี้ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนองหารหลวงดังปรากฏในปัจจุบัน

ประวัตเมืองหนองหารหลวง ประวัติเมืองหนองหารหลวงไม่มีหลักฐาน ปรากฏไว้เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากผู้เฒ่าผู้แก่ ของเมืองได้จดจำถ้อยคำของพระบรรเทา กรมการเมืองขุขันธ์คนเก่ากับเพี้ยศรีคอนชุม ซึ่งเป็นหัวหน้าข้าพระธาตุเชิงชุมว่า หลังจาก พระยาสุวรรณภิงคาระ สิ้นพระชนม์ลง เหล่าเสนา ข้าราชการผู้ใหญ่ชาวเขมร ก็ได้ผลัดเปลี่ยน กันเข้ามาปกครอง เป็นเจ้าเมือง หนองหารหลวง ต่อกันมาเรื่อยๆหลายยุคหลายสมัย

ต่อมาได้เกิดทุกขภัยฝนแล้งมา 7 ปี ราษฎรไม่ได้ทำนา เกิดความอดอยากข้าปลาอาหารไม่มีจะกิน เจ้าเมืองอพยพ ราษฎรอยู่ที่เมืองหนองหาร หลวงไปอยู่ที่เมืองเขมรกันหมด ทิ้งให้เมืองหนองหารหลวงกลายเป็นเมืองร้าง

ต่อมาในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยครอบครัวมาตั้งรักษา พระธาตุเชิงชุม จนมีผู้คนมากขึ้นแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านธาตุเชิงชุมเป็นเมืองสกลทวาปี โดยตั้งให้ อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์เป็นพระธานี เจ้าเมืองสกลทวาปีคนแรก

ต่อมาปี พ.ศ. 2369 สมัยรัชกาลที่ 3 ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ เจ้าเมืองสกลทวาปีไม่ได้เตรียมกำลังป้องกันเมือง เจ้าพระยาบดินทร์ เดชานุชิต(สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพมาตรวจราชการเห็นว่าเจ้าเมืองกรมการไม่เอาใจใส่ต่อบ้านเมืองปล่อย ให้ข้าศึก (ทัพเจ้าอนุวงศ์) ล่วงล้ำได้ โดยง่าย จึงสั่งให้นำตัวพระธานีไปประหารชีวิตที่หนองทรายขาว

พร้อมกับกวาดต้อนผู้คนในเมืองสกลทวาปีไปอยู่ที่ กบินทร์บุรีบ้าง ประจันตคามบ้าง ให้คงเหลือรักษาพระธาตุเชิงชุม แต่พวกศรีคอนชุม ต.ธาตุเชิงชุม บ้านหนองเหียน บ้านจานเพ็ญ บ้านอ่อมแก้ว บ้านธาตุเจงเวง บ้านพราน บ้านนาคี บ้านวังยางและบ้านพรรณา รวม 10 ตำบล เพื่อให้เป็นข้าปฏิบัติพระธาตุเชิงชุมเท่านั้น

ในสมัยต่อๆมาได้มีราชวงศ์คำแห่งเมืองมหาชัยกองแก้ว ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้อพยพข้ามแม่น้ำ โขงเข้ามาขอพึ่ง พระบรมโพธิสมภาร ขอสร้างบ้าน แปงเมืองขึ้นใหม่ที่เมืองสกลทวาปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ ราชวงศ์คำเป็น พระยาประเทศธานี(คำ) ในตำแหน่งเจ้าเมืองสกลทวาปี และทรงเปลี่ยน นามเมืองใหม่เป็น สกลนคร ตั้งแต่บัดนั้นมา

Credit: สำนักงานสถิติจังหวัดสกลนคร
ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพทุกๆ ท่านและกระผมต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วยที่ไม่ได้แจ้งที่มาของรูปภาพแต่ละรูป